เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [11. เอกาทสกนิบาต] 5. ปานียชาดก (459)
[57] แม่อุทัยภัทรา เธอรู้ว่าร่างกายเป็นอาหารของสัตว์อื่น
รู้ว่าสุคติและทุคติในสังสารวัฏเป็นสภาพที่อยู่อันต่ำต้อยแล้ว
จงอย่าประมาท ประพฤติธรรมเถิด
(พระราชธิดาเลื่อมใสแล้วเมื่อจะทรงชมเชย จึงตรัสคาถาสุดท้ายว่า)
[58] เทพบุตรนี้ตรัสดีแล้ว ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายน้อย
และชีวิตนั้นลำบาก อยู่ได้นิดหน่อย ประกอบไปด้วยทุกข์
หม่อมฉันนั้นจะละทิ้งเมืองสุรุนธนะแคว้นกาสีไปบวชคนเดียว
อุทยชาดกที่ 4 จบ

5. ปานียชาดก (459)
ว่าด้วยการรังเกียจบาปเพราะเผลอไปดื่มน้ำ
(พระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อจะถวายพระพรแก่พระราชา จึงได้ตรัสว่า)
[59] อาตมาเป็นมิตรของชายคนหนึ่งได้ดื่มน้ำของมิตรที่เขามิได้ให้
เหตุนั้น ภายหลังจึงรังเกียจว่า นั้นเป็นความชั่วเราได้ทำแล้ว
เราอย่าได้ทำความชั่วอีกเลย
เพราะเหตุนั้น อาตมาจึงบวช (1)
[60] ก็อาตมาเห็นภรรยาของคนอื่นแล้วเกิดความรัก
เหตุนั้น ภายหลังจึงรังเกียจว่า นั้นเป็นความชั่วเราได้ทำแล้ว
เราอย่าได้ทำความชั่วอีกเลย
เพราะเหตุนั้น อาตมาจึงบวช (2)
[61] ขอถวายพระพรมหาบพิตร พวกโจรในป่าได้จับบิดากับอาตมา
อาตมารู้อยู่ถูกพวกโจรเหล่านั้นถาม
ก็ได้ตอบเรื่องนั้นเป็นอย่างอื่นไป
[62] เหตุนั้น ภายหลังจึงรังเกียจว่า นั้นเป็นความชั่วเราได้ทำแล้ว
เราอย่าได้ทำความชั่วอีกเลย
เพราะเหตุนั้น อาตมาจึงบวช (3)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :364 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [11. เอกาทสกนิบาต] 5. ปานียชาดก (459)
[63] เมื่อเขาตั้งพิธีบูชายัญชื่อโสมยาคะ1
พวกมนุษย์ได้กระทำปาณาติบาต
อาตมาได้ยินยอมอนุญาตให้แก่พวกเขา
[64] เหตุนั้น ภายหลังจึงรังเกียจว่า นั้นเป็นความชั่วเราได้ทำแล้ว
เราอย่าได้ทำความชั่วอีกเลย
เพราะเหตุนั้น อาตมาจึงบวช (4)
[65] เมื่อก่อน ชนทั้งหลายในบ้านของอาตมา
ได้สำคัญสุราและเมรัยเหมือนน้ำหวาน
ได้ปรุงน้ำเมาเพื่อความหายนะแก่ชนจำนวนมาก
อาตมาได้ยินยอมอนุญาตให้แก่พวกเขา
[66] เหตุนั้น ภายหลังจึงรังเกียจว่า นั้นเป็นความชั่วเราได้ทำแล้ว
เราอย่าได้ทำความชั่วอีกเลย
เพราะเหตุนั้น อาตมาจึงบวช (5)
(พระราชาทรงติเตียนกามว่า)
[67] น่าติเตียนจริง ๆ กามเป็นอันมากมีกลิ่นเหม็น
มีขวากหนามมาก เราซ่องเสพอยู่ ไม่ได้ความสุขเช่นนั้นเลย
(พระอัครมเหสีทรงสรรเสริญความสุขในกามว่า)
[68] กามทั้งหลายน่าพอใจมาก มีความสุข
สุขที่ยิ่งกว่ากามไม่มี คนผู้ซ่องเสพกามย่อมขึ้นสวรรค์
(พระโพธิสัตว์ติเตียนกามว่า)
[69] กามทั้งหลายน่ายินดีน้อย มีทุกข์มาก
ทุกข์ที่ยิ่งกว่ากามไม่มี คนผู้ซ่องเสพกามย่อมตกนรก

เชิงอรรถ :
1 คำว่า โสมยาคะ หมายความว่า เมื่อมีงานมหรสพใหม่เกิดขึ้น พวกมนุษย์พากันทำพลีกรรมแก่ยักษ์
ฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า พิธีโสมยาคะ (ขุ.ชา.อ. 6/63/36)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :365 }